9 เส้นทางเสริมความมงคล ที่ บุรีรัมย์ Buriram



     .....หาก เรานึกถึงจังหวัดนึงที่ มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากมาย และมีวัดที่สวยงาม ผมเชื่อว่าหลายๆคน ต้องนึกถึง ''จังหวัดบุรีรัมย์'' แห่งนี้เป็นแน่นนอน สำหรับการมาเที่ยว บุรีรัมย์ครั้งนี้ ผมอยากพาเพื่อนๆ ไปไหว้พระ พร้อมกัน กับเที่ยวรอบๆ ที่บุรีรัมย์ กัน กับเส้นทาง เสริมมงคล ที่บุรีรัมย์

ติดตามเพจ ได้ที่ www.facebook.com/yhibklong

ติดตามเว็บท่องเที่ยว ได้ที่ www.yhibklong.com

สองทุ่มคืนวันศุกร์ เสียงรถคันเล็กของผมได้ดังขึ้น ช่วงเวลาค่ำคืนนี้ ปลายทางของผม อยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ การเดินทางของผม ได้เดินออกจาก กรุงเทพอย่างช้าๆ เส้นทางที่เดินทาง ถนนค่อนข้างดี เสียงเพลงที่วิทยุ เพลงหมุนวนไปอย่างช้าๆ ผมมองนาฬิกาอีกที ย่างเข้าตี2 กว่าๆ กับป้ายด้านหน้าที่ พร้อมบอกผม ว่ายินดีตอนรับสู่ บุรีรัมย์

Klim Hotel 


ค่ำคืนนั้น เข้าที่พัก Klim Hotel เข้าพักพร้อมอาบน้ำ แล้วนอนอย่างรวดเร็ว 

ที่พัก Klim Hotel เป็นที่พักในเมือง ที่ ราคา ไม่แพง ที่สำคัญ  และยังอยู่ใกล้สถานีรถไฟบุรีรัมย์ โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม โรงพยาบาลบุรีรัมย์ โรงพยาบาลเอกชนบุรีรัมย์ 

เบอร์ติดต่อ 044 601 989


                              

ห้องนอน ห้องขนาดกำลังดี พร้อมหมอนที่นุ่มสบาย ที่สำคัญ ราคาพันนิดๆเอง รวมอาหารเช้าให้เราอีกด้วย

เช้า วันที่สอง  

เช้านี้ผมตื่นมาพร้อมร่างกาย ที่ได้พักพื้น ผมลงมาทานอาหารเช้า ที่ klim จุดเด่นของที่นี่ คือ ไลน์อาหารเช้าที่จัดมาแบบเต็มที่  

                     




ผมรีบเติมพลัง ให้เต็มที่ ก่อนที่จะออกเดินทาง ไปยังจุดหมายแรกที่บุรีรัมย์
สำหรับใครชอบอาหารเช้า ที่นี่มีให้เลือกหลายแบบ ทั้ง ข้าวต้ม ข้าวสวย หรือ ชุดอาหารเช้า

วัดเกาะแก้วธุดงคสถาน หรือ วัดระหาน


ล้อรถผมเริ่มหมุน เส้นทางแรก ของผมไม่ห่างไกลจากที่พักมากนัก วัดระหาน วัดที่ผมเชื่อเหลือเกินว่า ใครมาที่บุรีรัมย์ต้องไม่พลาดมาไหว้สักการะ หลวงปู่จันทร์แรม และมาไหว้พระเสริมความมงคลที่นี่



วัดเกาะแก้วธุดงคสถาน (วัดระหาน) อยู่ที่ ต.บ้านด่าน อ.บ้านด่าน จ.บุรีรัมย์ ภายในวัดประดิษฐานพระมหาธาตุรัตนเจดีย์ เพื่อเป็นปูชนียสถานระลึกถึงองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า ลักษณะขององค์พระมหาเจดีย์ เป็นศิลปะประยุกต์ร่วมสมัย ความสูง ๖๐ เมตร มี ๔ ชั้น

  • ชั้นที่ ๑ ใช้ประโยชน์เป็นศาลาอเนกประสงค์
  •  ชั้นที่ ๒ เป็นสถานที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
  •  ชั้นที่ ๓ เป็นอุโบสถ พิพิธภัณฑ์และที่ประดิษฐานรูปเหมือนของพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
  •  ชั้นที่ ๔ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งสมเด็จพระสังฆนายกฝ่ายสยามวงศ์ และพระอัครมหาบัณฑิต วิมละรัตนะ เจ้าอาวาสวัดศรีเวฬุวนาราม ประเทศศรีลังกา ได้ประทานพระบรมสารีริกธาตุและหน่อพระศรีมหาโพธิ์ แก่พระครูเขมคุณโสภณ (หลวงปู่จันทร์แรม เขมสิริ) เมื่อปี ๒๕๔๗ ส่วนต้นพระศรีมหาโพธิ์ได้ปลูกไว้ด้านหลังพระมหาธาตุรัตนเจดีย์


สำหรับเพื่อนๆ ถ้ามาที่วัดระหาน ผมแนะนำให้เดินขึ้นมาให้ถึง ชั้นที่4 เพราะ ชั้นนี้เป็นชั้นที่ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ 
 ผมก้มลงกราบด้วยนมัสการ ด้วยความศรัทธา ได้แต่หวังแค่ขอให้การเดินทางครั้งนี้ปลอดภัยก็เพียงพอ
 ก่อนกลับผมได้มาไหว้ ไหว้สักการะ หลวงปู่จันทร์แรม ที่ด้านล่าง สำหรับประวัติหลวงปู่จันทร์แรม สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ 
https://sites.google.com/site/watrahanname/prawat1
2 ศาลเจ้าพ่อวังกรูด

ที่ อำเภอ สตึก มีศาลเจ้าพ่อวังที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นศรัทธาของชาวบ้านสตึก และอำเภอข้างเคียง

ศาลเจ้าพ่อวังกรูด ตั้งอยู่ถนนสตึกสำราญ ริมฝั่งแม่น้ำมูลเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ตามชาวบ้านเล่ากันมาว่าขุนหลวงอุดมศักดิ์ได้เดินทางมาร่วมกันกับสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เพื่อปราบกบฏจีนฮ่อ มาจากจังหวัดนครพนมโดยใ ช้เส้นทางตามแม่น้ำโขงแม่น้ำมูล ผ่านมาจนถึงอำเภอสตึก และได้พากำลังพลมาพักที่วังกรูด ซึ่งเป็นวังน้ำวนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูลชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า “ วังกุด ” ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “วังกรูด ” เนื่องจากเคยเป็นที่พักของขุนหลวงเก่า ชาวบ้านจึงได้มาสร้างศาล ขึ้นมาเพื่อระลึกถึง ขุนหลวงอุดมศักดิ์ชาวอำเภอสตึก ตลอดจนอำเภอใกล้เคียงให้ความเคารพกราบไหว้บูชาและศรัทธากันมาจนปัจจุบัน 

ศาลเจ้าพ่อวังกรูด ยังติดริมแม่น้ำใหญ่ ของที่อำเภอสตึกด้วย ช่วงเย็นๆ เพื่อนๆยังสามารถมานั่งรับลมเย็นๆริมน้ำได้อีก


3. พระพุทธปฎิมาสันตยาภิรมย์สตึกอุดมราษฎร์นิมิตมุนินทร์ หรือพระเจ้าใหญ่


พระเจ้าใหญ่ จะอยู่ ใกล้ๆ ศาลเจ้าพ่อวังกรูด และอยู่บริเวณริมแม่น้ำ ถ้าเราขับรถเราจะแวะที่พระเจ้าใหญ่ ก่อนไปศาลเจ้าพ่อวังกรูดก็ได้ หรือ จะแวะศาลเจ้าพ่อวังกรูดแล้ว ค่อยกลับมา สักการะพระเจ้าใหญ่ เหมือนผมก็ได้ครับ

ที่พระเจ้าใหญ่ ด้านหน้ายังมีสวนสำหรับมาพักผ่อน หย่อนใจ ในช่วงเย็นๆเสมอ

   พระพุทธปฎิมาสันตยาภิรมย์สตึกอุดมราษฎร์นิมิตมุนินทร์ หรือพระเจ้าใหญ่  เป็นพระพุทธรูปประจำอำเภอสตึก เป็นการก่อสร้างเพื่อเฉลิมฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์สถานที่ก่อสร้าง เมื่อ 17 มกราคม 2525 ทำพิธีเบิกพระเนตรเมื่อ 10 กรกฎาคม 2530 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาน (วาสน์) สมเด็จพระสังฆราช ได้ประทานนามว่า “พระพุทธปฏิมาสันตยาภิรมย์สตึกอุดมราษฎร์นิมิตมุนินทร์”ใจความว่า “พระพุทธผู้จอมปราชญ์ อันราษฎรอำเภอสตึก แหล่งที่สมบูรณ์(ร่วมใจ) สร้างขึ้น เพื่อเตือนใจให้ให้ยินดีในความสงบสุข”เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526 พระพุทธปฎิมาสันตยาภิรมย์สตึกอุดมราษฎร์นิมิตมุนินทร์ หรือพระเจ้าใหญ่ประดิษฐาน ณ บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ริมฝั่งแม่น้ำมูลด้านหน้าที่ว่าการอำเภอสตึก เป็นที่เคารพสักการะของชาวอำเภอสตึก และอำเภอใกล้เคียงที่แวะเวียนมากราบไหว้ขอพรเป็นประจำ ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา เทศบาลตำบลสตึก และอำเภอสตึก จะประกอบพิธีทางศาสนาและเวียนเทียน เป็นประจำ
4 พระเจ้าใหญ่ วัดหงษ์ 

จากที่ผมสักการะ พระเจ้าใหญ่  เสร็จแล้ว ผมไปยัง อำเภอพุทไธสง เพื่อมาสักการะ พระเจ้าใหญ่ วัดหงษ์ วัดแห่งนี้ที่มีประวัติ อันยาวนาน 
พระเจ้าใหญ่ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบุรีรัมย์และจังหวัดใกล้เคียง พุทธลักษณะ ปางมารวิชัย วัสดุสัมฤทธิ์ ปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 1.6 เมตร สูง 2 เมตร สร้างด้วยศิลาแลง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐ ช่างที่สร้างอาจเป็นช่างสกุลลาว ศิลปะล้านช้าง โดยดูจากพระเกศที่มีลักษณะเฉพาะในภาคอีสานและในประเทศลาวเท่านั้น ประดิษฐานอยู่ที่วัดหงษ์ ตำบลมะเฟือง อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ 
มีประวัติเล่าว่าท้าวศรีปาก(นา) ท้าวทาทอง(ยศ) และท้าวเหล็กสะท้อนไกรสรเสนา คนไทยเชื้อสายลาวและบริวารมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตจังหวัดมหา สารคาม มีนิสัยชอบเที่ยวป่าล่าสัตว์ ครั้งหนึ่งได้ยิงนกขนาดใหญ่และสวยงามมากตัวหนึ่งบริเวณสระบัว นกตัวนั้นบินมาตกตรงป่าด้าน ทิศตะวันออกจึงตามหา ได้พบพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่ง ด้วยความไม่เคยเห็นพระองค์ใหญ่ขนาดนี้มาก่อน ก็เกิดความปิติดีใจ แล้วสำรวจรอบบริเวณองค์พระ พบเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม รอบองค์พระมีต้นตาล ทั้ง๔ ทิศมีเถาวัลย์ ปกคลุมรุงรัง ด้านทิศตะวันออกพบ หนองน้ำขนาดใหญ่ ไม่ปรากฏว่ามีคนอาศัยอยู่ในบริเวณนั้น จึงกลับไปชักชวนญาติพี่น้องให้มาตั้งรกรากบริวเณนี้ ช่วยกันสร้างวัดและ ตั้งชื่อว่า "วัดหงษ์" ตามลักษณะของนกที่ถูกยิงตกบริเวณนั้น
องค์พระมีอักษรขอมจารึกบนดินเผา อ่านได้เฉพาะคำหน้าว่า "พระเจ้าใหญ่..." จึงเรียกว่า "พระเจ้าใหญ่" ตั้งแต่นั้นมา สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างกับเมืองพุทไธสง ราวปี พุทธศักราช ๒๒๐๐ อายุประมาณ ๓๐๐ ปีเศษ เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสาม (กุมภาพันธ์ - มีนาคม) ชาวบ้านจะจัดงานเทศกาลเพื่อเฉลิมฉลองนี้ ๕ วัน ๕ คืน เป็นประจำทุกปีแด่พระเจ้าใหญ่

ช่วงวันหยุด มีชาวบ้านมากมาย ต่างมาทำบุญที่วัดหงษ์แห่งนี้ และที่สำคัญวัดแห่งนี้ยังเป็นวัดสำคัญ ของชาวอำเภอ พุทไธสง อีกด้วย
จากวัดพระเจ้าใหญ่ ผมมุ่งหน้าไป อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ เพื่อไปชม ปรางค์กู่สวนแตง ซึ่ง ระยะทางห่าง จากที่วัดพระเจ้าใหญ่ ไปเพียง 20นาที ได้

5. ปรางค์กู่สวนแตง

น้อยคนนักที่จะรู้จัก ปรางค์กู่สวนแตงแห่งนี้ ซึ่งจริงๆแล้ว ปรางค์กู่สวนแตง แห่งนี้มาอายุนับพันปีเลย 

ปราสาทกู่สวนแตง หรือ ปรางค์กู่สวนแตง ตั้งอยู่ที่บ้านดงยาง ตำบลกู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 โดยได้รับอิทธิพลจากศิลปกรรมสมัยนครวัดเป็นโบราณสถานอีกแห่งที่ถูกวางระเบิดจนองค์ปรางค์พังทลายลงมาเพื่อโจรกรรม ชิ้นส่วนปราสาทไปขาย ภายหลังกรมศิลปากรได้บูรณะใหม่จนมีความสมบูรณ์ และประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2547 ลักษณะของกู่ประกอบด้วย ปรางค์อิฐ 3 องค์ ตั้งเรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ บนฐานศิลาแลงเดียวกัน อาคารทั้งหมดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูหน้าเพียงประตูเดียว อีก 3 ด้าน สลักเป็นประตูหลอก ปรางค์องค์กลางมีขนาดใหญ่และมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านหน้าทั้ง 3 ด้าน มีลักษณะยื่นออกมาและมีแผ่นศิลาทรายรองรับ ส่วนปรางค์อีกสององค์มีขนาดเล็กกว่าฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูเดียวทางด้านหน้า เช่นกัน ส่วนผนังอีก 3 ด้าน ก่อเรียบทึบ สำหรับบนพื้นหน้าปรางค์มีส่วนประกอบสถาปัตยกรรมหินทรายอื่น ๆ ตกหล่นอยู่ เช่น ฐานบัว ยอดปรางค์ กลีบขนุน รูปนาค 6 เศียร อายุของกู่สวนแตงสามารถ กำหนดได้จากทับหลังของปรางค์ ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 17 เนื่องจากภาพสลักบนทับหลังทั้งหมดมีลักษณะตรงกับศิลปะขอมแบบนครวัด ที่มีอายุอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว อาทิเช่น ทับหลังสลักภาพพระนารายณ์ตรีวิกรม (ตอนหนึ่งในวามนาวตารแสดงภาพพระนารายณ์ย่างพระบาท 3 ก้าว เหยียบโลกบาดาล โลกมนุษย์ และโลกสวรรค์) ทับหลังภาพศิวนาฎราช ทับหลังภาพการกวนเกษียรสมุทร ทับหลังภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ ฯลฯ แต่ละชิ้นมีขนาดใหญ่สวยงามน่าสนใจยิ่ง
6. กู่ ฤาษี

อีกสถานที่หนึ่งที่ น้อยคนเช่นกันจะรู้จัก ที่กู่ฤาษี การเดินทางมาที่แห่งนี้ไม่ยาก เพราะ ห่างจาก ปรางค์กู่สวนแตง ไม่กี่ กิโล เมตร ด้านหน้ายังมีศาลที่สามารถมาไหว้พระเสริมมงคลได้อีก

เป็นศิลาแลงวางเรียงซ้อนกัน และวงเป็นกำแพงล้อมตัวกู่ ภายในมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ และรูปปั้นฤาษี ประดิษฐานอยู่ ภายในบริเวณบริเวณศิลาแลงด้านในมีต้นจำปีปลูกล้อมรอบ 7 ต้น ด้วยกัน และบริเวณรอบนอกศิลาแลงด้านทิศเหนือ มีสระน้ำอยู่ขนาดเล็กด้านข้าง ด้านชาวบ้านในบริเวณนั้น บอกว่าได้สร้างมานานแล้วแต่ โดยเมื่อก่อนมีพระภิกษุมาจำวัดที่นี่ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว โดยสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์และนับถือของชาวบ้านในระแวกนี้ 
หลังจาก ผม ขับรถไหว้พระเสริมศิริมงคล ไป6 ที่แล้ว ในวันนี้ ผมก็ย้อนกลับมาแวะเที่ยวที่เพลาเพลิน ที่เพลาเพลินเป็น สวนดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งประเทศ สำหรับค่าเข้า จะเสียคนละ 150 บาทเท่านั้น 

ด้านในยังมีมุมน่ารักน่ารักให้ ถ่ายรูปกัน

                             
                                ยังมีการจัดสวน ในแบบต่างๆ สถานที่ ที่เพลาเพลินจัดแต่งได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับการมาเดินเล่นถ่ายรูปมาก
ซึ่ง ที่เพลาเพลินยังแบ่งสวนออกเป็นโซนต่างๆ สำหรับดอกไม้ที่มาจัดแสดง จะเป็นดอกไม้ในช่วงที่สวยของแต่ละเดือนหมุนเวียนกัน ครับ สำหรับการใช้เวลาที่นี่ ต้องใช้เวลา ไม่ต่ำกว่า 2-3 ชั่วโมงได้ครับ



 เช้าวันนี้ ผมทานอาหารแต่เช้า และเตรียมไปไหว้พระเสริมความมงคลที่ วัดรอบๆ เมืองบุรีรัมย์ สถานที่แรกที่ผมจะไป ก็ คือที่ศาลหลักเมือง

7 ศาลหลักเมือง

ประวัติ คร่าวๆ ของ ศาลหลักเมือง  เป็นศาลใหม่ ที่สร้างขึ้นใช้แทนศาลเดิมในปี 2512 ที่มีขนาดเล็ก คับแคบ และทรุดโทรมผ่านวันเวลามานานกว่า 30 ปีแล้ว ระหว่างปี 2548 – 2550 ทางจังหวัดบุรีรัมย์ จึงดำเนินการสร้างศาลขึ้นใหม่ เพื่อประดิษฐานพระหลักเมือง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบุรีรัมย์ต่างเคารพศรัทธา และยึดเหนี่ยว ให้เกิดความสง่างาม เป็นศรีแก่จังหวัด
                สถาปัตยกรรมที่เห็นนี้เกิดจากฝีมือของช่างกรมศิลป์ที่มาร่วมออกแบบ เป็นรูปแบบศิลปะขอมประยุกต์ ที่รับอิทธิพลมาจากยุครุ่งเรืองในสมัยพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 2 มองจากด้านนอกมียอดองค์ปรางค์ 5 ชั้น แต่ละชั้นประดับกลีบขนุน และเทพประจำทิศเพื่อคุ้มภัยรักษาทิศต่างๆ เอาไว้ ตามคติความเชื่อ ส่วน องค์เรือนธาตุ เป็นที่ประดิษฐานพระหลักเมือง มีลักษณะชักมุขออกทั้ง 4 ด้าน มีความหมายถึง การกระจายความเป็นหลักฐานมั่นคงออกไปทั้ง 4 ทิศ ยอดศาลพระหลักเมืองติดตั้งรูปดอกบัว Stain Glass ประดับทองเพื่อนำแสงเข้าสู่หลักเมือง สำหรับ หลักเมือง นั้นประดิษฐานอยู่ที่ตำแหน่งตรงกลางองค์ปรางค์ แทนที่ตั้งเดิมของศิวลึงค์

บริเวณศาลหลักเมืองแห่งนี้ เคยเป็นจุดเจ้าพระยาจักรี คือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ใช้เป็นจุดพักรบ และ เห็นว่าบริเวณนี้เป็นทำเลที่เหมาะสม มีสระน้ำ มีต้นแปะขนาดใหญ่ เลยโปรดเกล้าให้ตั้งชื่อเมืองนี้ว่าเมืองแปะ ก่อนที่จะมาเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองบุรีรัมย์

จากศาลหลักเมือง ผมมายังที่วนอุทยานภูเขาไฟกระโดง  เพื่อมากราบไหว้ พระสุภัทรบพิตร พระคู่บ้านคู่เมืองบุรีรัมย์ การเดินทางมาบนยอดเขานี่มี 2 ทางคือทางรถ หรือ จะเดินขึ้นมาที่บันไดด้านหน้าก็ได้

8. พระสุภัทรบพิตร

เป็นพระพุทธรูปคู่เมือง ภายในเศียรบรรจุพระธาตุ ประดิษฐานอยู่บนเขากระโดง เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐฉาบปูนขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 12 เมตร ฐานยาว 14 เมตร หันหน้าไปทางทิศเหนือ สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2512 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นายสุรวุฒิ บุญญานุสาสน์ ในขณะนั้น ร่วมกับพ่อค้าประชาชนและผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในความคิดและโครงการต่างๆ ของหลวงพ่อบุญมา ปัญญาปโชโต อดีตเจ้าอาวาส

 วัดเขากระโดง ได้ร่วมกันจัดสร้างขึ้นบริเวณยอดเขากระโดง เพื่อให้เป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป จากจุดที่ตั้งขององค์พระ สามารถมองเห็นทัศนียภาพของตัวเมืองบุรีรัมย์ได้
ถ้าใครมาช่วงเช้า จะได้เห็นแสงพระอาทิตย์ขึ้นด้านหน้าด้วย ก็ จะสวยไปอีกแบบนึง


สุดท้ายผม ขอผมปิดทริปที่ วัดป่าเขาน้อย

9. วัดป่าเขาน้อย
วัดป่าเขาน้อยนั้นถือว่าเป็นวัดป่ากรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่ได้พัฒนาขึ้นตามปณิธานของพระโพธิธรรมจารย์เถร หรือหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ อดีตเจ้าอาวาสและวิปัสสนาจารย์ผู้เป็นที่เลื่อมใสเพื่อให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่มีความสะดวกแก่ประชาชนทั่วไป เนื่องจากเป็นวัดเก่าที่อยู่ใกล้ตัวเมืองสะดวกแก่การเดินทาง แต่มีสภาพเป็นป่าเขาเหมาะแก่การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้เป็นศูนย์รวมศรัทธาแก่คณะศิษย์และประชาชน ในการปฏิบัติคุณงามความดี ตลอดจนการปฏิบัติจิตภาวนา ดังคำของหลวงปู่ซึ่งเคยปรารภไว้ในช่วงก่อนที่ท่านจะลาสังขารว่า "วัดป่าเขาน้อยนี้หวังจะให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรม ให้ช่วยกันรักษาเอาไว้เน้อ ถ้าผมตายผมไม่ได้เอาไปด้วยดอก ที่สร้างก็เพื่อประโยชน์ส่วนรวมและเพื่อลูกหลานผู้อยู่ข้างหลังนั่นเอง" 
  ความเชื่อและวิธีการบูชา
    ผู้ที่มายังวัดป่าเขาน้อยสามารถมานมัสการพระเจดีย์ศรีสุวจคุณานุสรณ์ ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และอัฐิธาตุของหลวงปู่สุวัจน์เพื่อความเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ยังสามารถปฏิบัติสมาธิ บำเพ็ญจิตตภาวนาเพื่อเป็นการเพิ่มพูนบารมี บุญกุศลราศี สัมมาปฏิบัติ ให้จิตใจมีอำนาจและมีสติและปัญญา ตามคำสอนและความตั้งใจ ของหลวงปู่สุวัจน์ที่มอบวัดป่าเขาน้อยแห่งนี้ให้เป็นมรดกแห่งศาสนาสืบไป

สำหรับเพื่อนๆ ถ้ามีโอกาส มาเที่ยวบุรีรัมย์เพื่อเสริมความมงคลในช่วงนี้แล้ว ยังสามารถแวะพักแวะเที่ยวที่อื่นๆได้อีกมากมาย บุรีรัมย์ยังมีอีกหลายที่ ที่น่าสนใจครับ ถ้าใครไม่เคยมาผมอยากเชิญชวนมาเที่ยวที่จังหวัดนี้กันมากๆ นะครับ ^______^


สามารถติดตามข่าวสาร หรืออัพเดท ที่เที่ยวใหม่ๆได้ที่ App Go2Buriram และ Buriram Magic 





0/Post a Comment/Comments

ใหม่กว่า เก่ากว่า