นั่งทำงานอยู่ เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น เมื่อจบการสนทนาเรียบร้อย ได้ตกปากรับคำ ที่จะร่วม ทริป กับทาง สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุม และนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) ทริปนี้มุ่งสู่จังหวัดเพชรบุรี
เมื่อพูดถึงเพชรบุรีแล้ว ต้องนึกถึง “ขนมหม้อแกง” เพราะเป็นของฝากขึ้นชื่อประจำจังหวัดเพชรบุรี และเมื่อพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวแน่นอนเลยว่า ต้องนึกถึง “เขาวัง” เป็นที่แรก แต่ทราบไหมเอ่ย ว่าเพชรบุรี ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวด้านการเรียนรู้ที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน
จังหวัดเพชรบุรี เป็นเมืองเก่าแก่ที่น่าหลงใหล ทั้งความสวยงามของท้องทะเล ศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่สำคัญ รวมทั้งเป็นแหล่งการเรียนรู้วิถีชุมชน ประเพณี และวัฒนธรรม อีกด้วย
ทริปนี้ หยิบกล้องฯ จะพาไปท่องเที่ยวด้านการเรียนรู้ พาไปรู้จัก วิถีชุมชน ประเพณี และวัฒนธรรม ที่สืบทอดมายาวนานกว่า 200 ปี ของชาวไทยทรงดำ หรือลาวโซ่ง เยี่ยมชมความงดงามในด้านสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกของพระราชวังบ้านปืน เรียนรู้ที่ศูนย์การเรียนรู้ และอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เกี่ยวกับตาลโตนดแห่งแรก และแห่งเดียวในจังหวัดเพชรบุรี และ เยี่ยมชมโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เช้าวันพุธ เสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้น ได้เวลาที่เราต้องเดินทางไปยังจังหวัดเพชรบุรี กับทาง สสปน. เมื่อมาถึงยังจุดนัดพบ ได้ทำการลงทะเบียน และรับกำหนดการ 3 วัน 2 คืน เราจะไปท่องเที่ยวที่ไหนบ้างนั้น อยากรู้ใช่ไหมเอ่ยว่าทริปนี้เราไปเที่ยวไนกันบ้าง ขออุบไว้ก่อน แต่รับรองได้เลยว่าทริปนี้เที่ยวไป เรียนรู้ไป อย่างครบครันแน่นอน
ได้เวลาล้อหมุน เราเดินทางจากรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่ จังหวัดเพชรบุรี วิ่งถนนเพชรเกษม ตามทางหลวงหมายเลข 35 เมื่อถึงแยกวังมะนาวเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 4 ซึ่งเราเปิด Goolgle map นำทาง เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ก็มาถึงยังสถานที่แรก
สถานที่แรกที่เราจะเที่ยวไป เรียนรู้ไป นั่นคือ “ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ หรือลาวโซ่ง”
ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ หรือลาวโซ่ง
ตั้งอยู่ หมู่ 5 ตำบลเขาย้อย อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
เบอร์โทร 032-561200 หรือ ติดต่อ คุณวิวรรณธนี สาตร์พันธุ์ เบอร์โทร 032-562153, 081-4344997
ทางศูนย์ฯ ได้ให้การต้อนรับ และกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของชาวไทยทรงดำ หรือลาวโซ่ง วิถีชีวิต ของชุมชน
แนะนำเครื่องแต่งกายของชาวไทยทรงดำ หรือลาวโซ่ง
เราจะขออธิบายเครื่องแต่งกายจากทางซ้ายมือ ไปยังขวามือ
- เสื้อไทผู้ชาย เป็นเสื้อแขนยาวสีดำ หรือสีกรม มีกระดุม 9, 11, 13, 15, 21 เม็ด ใส่ไปงานพิธี หรือกิจกรรมต่างๆ
- เสื้อก้อม เสื้อคอตั้ง (เหมือนคอจีน) มีกระดุมติดตั้งแต่คอถึงเอว 11, 13, 15 เม็ด แขนยาวสีดำ หรือสีกรม ตัวยาวถึงสะโพก ใช้ไปไร่ ไปนา กินเสน หรืองานพิธีต่างๆ
- ชุดฮ้างนม (ผ้าเปียว) สำหรับผู้หญิงใส่อยู่บ้าน
ซิ่นลายแตงโม สำหรับใส่ออกงาน หรือใส่อยู่บ้าน
- เสื้อฮี (หญิง) เสื้อสำหรับใช้ในพิธีกรรม เย็บด้วยผ้าดำ ใช้งานได้สองด้าน ปลายแขนตกแต่งด้วยผ้าไหมสีต่างๆ บ่าหน้าทั้งสองตกแต่งด้วยลายดอกหน้าหมอน หรือดอกแส่ว ใช้ในงานมงคล ด้านที่ลวดลายสวยงามใช้ในงานอวมงคล (งานศพ เฉพาะคลุมโรงศพ)
- เสื้อฮี (ชาย) เสื้อสำหรับใช้ในพิธีกรรม เย็บด้วยผ้าสีดำ เป็นคอกลม ใช้งานได้สองด้าน ด้านที่ลวดลายน้อยใช้ในงานมงคล ด้านที่มีลวดลายสวยงาม ใช้ในงานอวมงคล (งานศพ เฉพาะคลุมโลงศพ)
คุณยายสาธิตการรวบผมให้ชม
ทางศูนย์ฯ ได้จัดการแสดงร้องรำ ในแบบฉบับชาวไทยทรงดำ หรือลาวโซ่ง ให้เราได้ชม คุณตา คุณยาย ร้องรำกันอย่างสนุกสนาน ทำให้เราเพลิดเพลินไปด้วยเลย
นั่งฟังอย่างเดียวคงไม่สนุก เราจึงขอร่วมรำวงกับคุณตา คุณยาย ด้วยเลย
ก่อนจะเที่ยวชมกันต่อ เรารมาทราบประวัติกันก่อนดีกว่า
ประวัติของ ไทยทรงดำ หรือลาวโซ่ง
ชนเผ่าไทดำ หรือไทยทรงดำ หรือโซ่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เมืองแถน ซึ่งแต่เดิมเป็นเมืองใหญ่ของแคว้นสิบสองจุไท ปัจจุบัน คือ จังหวัดเดียนเบียนฟู อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนาม มีอาณาจักรเขตติดต่อกับประเทศลาว (แคว้นล้านช้าง) ทิศเหนือ ติดกับตอนใต้ของประเทศจีน ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในแผ่นดินไทย นานกว่า 200 ปี มีประวัติการอพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 3 ตั้งถิ่นฐานอยู่ทั่วไป ในเขตภาคกลาง เช่น สุพรรณบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และที่อำเภอเขาย้อย
ปัจจุบันมีประชากรมากกว่าร้อยละ 80 ของประชากร ไทยทรงดำ ซึ่งอยู่รวมกันด้วยความรัก และสามัคคี
กลิ่นอะไรหอมๆๆๆ มาเตะจมูก ไม่รอช้าที่จะเดินตามหาที่มาของกลิ่น ชาวบ้านกำลังปิ้งข้าวเกรียบงาให้ได้ชิมกัน ว่าแล้วไม่รอช้าขอชิมก่อนเลยแล้วกัน เข้าปากคำแรก อร่อยอะ แอบกระซิบว่า ข้าวเกรียบงา ชาวบ้านเค้าทำเองเลยนะ
ข้าวเกรียบงาทำไม่ยาก เลยหยิบยกสูตรมาให้ลองทำกินเองได้เลย
วิธีการทำข้าวเกรียบงา
ส่วนผสม ประกอบไปด้วย ข้าวสารข้าวกล้อง, งาดำคั่ว, น้ำตาลปี๊บ, มะพร้าวทึนทึก, เกลือป่น และน้ำ
วิธีการทำ สามารถเข้าไปดูได้ตามเว็บไซต์ >>>>> http://www.m-culture.in.th/moc_new/album/ 131327/ข้าวเกรียบงา/
เราได้ข้าวเกรียบงา มาเป็นแผ่นแล้วยังนำไปย่างไม่ได้ ต้องมาผึ่งให้แห้งก่อน
ในบริเวณเดียวกัน คือ ใต้ถุนบ้าน เราจะพบกับ เครื่องทอผ้า ซึ่งชาวบ้านจะทอผ้าไว้ใส่เอง และทอผ้าสำหรับการจำหน่ายด้วย ถือว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งของชาวบ้านที่นี่
เครื่องแต่งกายของชาวไทยทรงดำ มักจะเน้นสีเข้ม โดยเฉพาะสีดำ เนื่องจากสีดำทำให้ใส่ได้นาน และสกปรกยาก
อย่างที่บอกไปว่า ชาวบ้านเค้าทอผ้าไว้ขายด้วย มาแล้วอย่าลืมอุดหนุนกันด้วยนะ
ใครที่อยากลองทอผ้า ก็สามารถลองทอได้ จะมีชาวบ้านสอน และนำนำวิธีการทอให้ด้วย
สาวสวย ลองทอผ้า ถามว่าง่ายไหม เหมือนจะง่ายแต่ไม่ง่าย และไม่ยาก หากเราได้ทอบ่อยๆ เราก็จะคุ้นมือ
ที่เลี้ยงตัวหนอนไหม จะเลี้ยงไว้ในกระจาด ที่ศูนย์ฯ ไม่ได้มีตัวไหมให้เราดู แต่ชาวบ้านก็ยังมีการเลี้ยงตัวไหมอยู่ในปัจจุบัน
ใบหม่อน เพื่อใช้เลี้ยงตัวหนอนไหม
ลักษณะบ้านเรือนของชาวไทยทรงดำ
บันไดจะสูงชัน ไม่มีราวบันได บันไดจะมีขึ้นได้ 2 ทาง ทางด้านหน้า และทางด้านหลังบ้าน
ระเบียงด้านหน้าใช้เป็นที่รับแขกผู้หญิง เรียกว่า “กกชาน” ส่วนระเบียงด้านหลังเรียกว่า “กว้าน” สำหรับ
แขกผู้ชาย
หลังคาบ้านมุมด้วยหญ้าคา
ฝาบ้านขัดแตะดำด้วยไม้ไผ่ ไม่มีช่องหน้าต่าง
ภายในบ้านจะไม่กั้นเป็นห้องๆ จะปล่อยให้เป็นที่โล่ง แต่จะจัดมุมใดมุมหนึ่งให้เป็นห้องสำหรับเป็นที่อยู่ของ “ผีบรรพบุรุษ” ซึ่งเรียกว่า “กะล่อห๋อง” ส่วนตัวบ้านจัดเป็นมุมนอนมุมหนึ่ง มุมครัวมุมหนึ่ง
ที่นอน และมุ้งจะเป็นสีดำล้วน จะไม่มีการเก็บที่นอน จะก้างมุ้งตลอด เพราะถือว่านั่นเป็นที่ส่วนตัว หรือเป็นอีกห้องหนึ่งเช่นกัน
มุมครัว จะมีเตาไฟ และอุปกรณ์การหุงต้มด้วยหม้อดิน
ภายในตัวบ้านจะมีหิ้ง เรียกว่า “ส่า” เพื่อจะเก็บของจำพวกหวาย และไม้ไผ่ เพื่อที่จะรักษาเนื้อไม้ และหวายไม่ให้มอดกิน
ที่ตากเสื้อผ้า
พวกของเครื่องใช้ จะแขวนตามเสาบ้าน
ที่ศูนย์ฯ จะมีการสาธิตการสานพัดให้เราชมด้วย
คุณยายสาธิตการสานพัด โดยทำมาจากไม้ไผ่
คุณลุงสาธิต การสาน
พัดที่คล้ายรูปธง ทางซ้ายมือ 2 อัน เรียกว่า “วี” จะสานให้กับเด็กที่เพิ่งเกิดทั้งหญิง และชาย (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ >>>>> http://www.stou.ac.th/study/sumrit/10-57(500)/page2-10-57(500).html)
ทางศูนย์จำหน่ายพัด ในราคา 20 บาท มาเที่ยวชมแล้วก็อย่าลืมอุดหนุนกันด้วยนะ
มาเที่ยวเพชรบุรีตั้งหลายครั้งไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า จังหวัดเพชรบุรี จะมีประชากรที่เป็นชาวไทยทรงดำ หรือลาวโซ่ง อาศัยอยู่ ครั้งนี้ ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวไทยทรงดำ หรือลาวโซ่ง ได้กระจ่างเลย ไว้มีโอกาส จะมาค้างแรมสักคืน จะได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้านให้มากขึ้น ค่าที่พักคืนละ ราคา 200 บาท สามารถติดต่อสอบถาม ได้ที่เบอร์โทร 032-561200 หรือ ติดต่อ คุณวิวรรณธนี สาตร์พันธุ์ เบอร์โทร 032-562153, 081-4344997
เราเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวไทยทรงดำ หรือลาวโซ่ง ได้เวลาที่จะไปยังสถานที่ต่อไป รีบขึ้นรถกันเลยดีกว่า
สถานที่ต่อไป ที่เราจะเที่ยวไป เรียนรู้ไป นั่นก็คือ “พระราชวังบ้านปืน”
การเดินทาง
จากศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ หรือลาวโซ่ง ไปยังพระราชวังบ้านปืน ขับตามทางหลวงหมายเชข 4 ใช้เวลาประมาณ 17 นาที
รูปแผนที่จาก เว็บไซต์ >>>>>http://www.paiduaykan.com/province/central/phetchaburi/banpuenpalace.html
พระรามราชนิเวศน์ หรือพระราชวังบ้านปืน
เปิดบริการ
จันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.30 – 16.00 น.
เสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดราชการ 08.30 – 16.30 น.
ค่าธรรมเนียมเข้าชม
- ผู้ใหญ่ 20 บาท, เด็ก 10 บาท
- นักเรียน นักศึกษา ในเครื่องแบบ 5 บาท
- ชาวต่างชาติ 50 บาท
- สำหรับหมู่คณะ ต้องการวิทยากรบรรยาย สามารถทำหนังสือถึงผู้บังคับการทหารบกจังหวัดเพชรบุรี ค่ายรามราชนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี 76000 เบอร์โทร 032-428506-10 ต่อ 259
พระรามราชนิเวศน์ หรือพระราชวังบ้านปืน
พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชประสงค์ให้สร้าง พระราชวังแบบยุโรป ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อใช้สำหรับแปรพระราชฐานในฤดูฝน โดยย่อส่วนมาจากพระราชวังฤดูร้อนของพระเจ้าวิลเฮิร์มไกเซอร์ แห่งประเทศเยอรมัน เริ่มก่อสร้างใน พ.ศ.2453 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2459 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์พราะราชทานพระนามว่า “พระที่นั่งศรเพ็ชรปราสาท” ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2461 ทรงเปลี่ยนเป็น พระรามราชนิเวศน์ ทรงใช้เป็นสถานที่รับรองแขกเมือง
ปืนใหญ่วังบ้านปืน ตั้งอยู่รอบๆ ลานหน้าพระที่ บริเวณรอบฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ หันหน้าออกทั้งสี่ด้าน มีด้วยกันทั้งหมด 4 กระบอก ปืนใหญ่เหล่านี้หล่อด้วยสำริด มีชื่อเรียกว่า “รามสูรคว่างขวาน, ยมบาลจับสัตว์, ลอยชายเข้าวัง และกำลังเพชรหึง”
ทางด้านหน้า เข้าชมภายใน ต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าชม มีป้ายติดห้ามถ่ายรูปตลอดทาง เมื่อก่อนสามารถถ่ายรูปได้ และเป็นสถานที่ถ่ายทำละครหลายเรื่อง แต่ปัจจุบันห้ามถ่ายรูป และงดใช้สถานที่ถ่ายทำละคร
ห้องโถงกลม อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของอาคาร
ในเมื่อเก็บภาพภายในไม่ได้ ก็ขอเก็บภาพรอบๆ พระราชวังแทน
พระตำหนักได้ใช้ลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบบาโรค (Baroque) และแบบอาร์ต นูโว (Art Nouveau) หรือที่เยอรมัน เรียกว่า จุงเกนสติล (Jugendstil)
ภายในพระราชวังบ้านปืน ประกอบด้วย 2 ชั้น ซึ่งชั้นล่าง จะประกอบไปด้วย ห้องรอเฝ้า ท้องพระโรง ห้องเสวย และชั้นบนประกอบไปด้วย ห้องพระบรรทมใหญ่ ห้องพระบรรทมพระราชินี ห้องพระบรรทมเจ้าฟ้าฯ และห้องพระอักษร
ความงามของพระรามราชนิเวศน์ หรือพระราชวังบ้านปืน สมคำร่ำลือเลยทีเดียว ซึ่งโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ความงามภายในพระราชวัง ต้องมาลองสัมผัสเอง
เหนื่อยกันแล้วยังเอ่ย เที่ยวไป 2 สถานที่แล้ว เราก็เคยมาครั้งแรกเหมือนกัน เราไม่เคยได้มาเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน จังหวัดเพชรบุรี กันสักที ครั้งนี้ถือว่าได้เที่ยวไป เรียนรู้ไป คุ้มค่าเลย
สถานที่ต่อไป นั่นก็คือ “สวนตาลลุงถนอม”
การเดินทาง
จากพระรามราชนิเวศน์ หรือพระราชวังบ้านปืน มาได้ 2 เส้นทาง คือ ทางหลวงหมายเชข 3179 หรือทางหลวงหมายเลข 4 ใช้เวลาเดินประมาณ 20 นาที
“สวนตาลลุงหนอม”
ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ตำบลถ้ำรงค์ อ.บ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี
ติดต่อสอบถามได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำรงค์ เบอร์โทร 032-491467 หรือ
ติดต่อโดยตรงที่ คุณลุงถนอม ภู่เงิน เบอร์โทร 032-440355 และ 087-8007716
เราไม่สามารถที่จะนำรถบัสไปยังสวนตาลลุงถนอมได้ เราจึงต้องใช้บริการรถนำเที่ยวขององค์การบริหาส่วนตำบลถ้ำรงค์ ซึ่งจอดที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ องค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำรงค์ ติดถนนเพชรเกษม
พร้อมแล้วใช่ไหม ตามมาเลย สองข้างทางที่เรานั่งรถรางไปยังสวนตาลลุงถนอม เราจะใช้เวลานำเที่ยวชมประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที
ลุงถนอม ภู่เงิน อดีตกำนัน ตำบลถ้ำรงค์ เจ้าของ “สวนตาลลุงหนอม” เป็นผู้บุกเบิกในการปลูกต้นตาล ลุงถนอมได้ตระหนักแล้วว่า ถ้าไม่มีการอนุรักษ์ตาลเมืองเพชรเอาไว้ อนาคตวันข้างหน้าจะไม่เหลือต้นตาลเมืองเพชรให้ชมอีกเลย ลุงถนอมได้เริ่มปลูกต้นตาลเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2534 ไว้ทั้งหมด 450 ต้น ในพื้นที่ 10 ไร่ของตนเอง ปลูกเพื่อให้ลูกหลานสามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน และถือโอกาสอนุรักษ์วัฒนธรรมการทำตาลของไทย และได้มาเป็นศูนย์การเรียนรู้ และอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับต้นตาลโตนดแห่งแรก และแห่งเดียวในจังหวัดเพชรบุรี
ลุงถนอม ได้ประยุกต์การปลูกต้นตาลใหม่ ให้มีระบบ ทำงานง่ายขึ้น ปลูกเป็นแถวให้เป็นระเบียบ แทนที่จะต้องเดินปีนขึ้นต้นตาลทีละต้น ก็ใช้นั่งร้านไม้ไผ่พาดเชื่อมต่อกันระหว่างยอดต้นตาลแต่ละต้น สามารถขึ้นทีเดียวได้ถึงกันหมด
พันธุ์ที่ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นตาลพันธุ์ไข่ มีลักษณะเด่นที่อยู่ที่โคนต้นจะอ้วน ขนาดใหญ่กว่าต้นตาลทั่วไป
ลูกของลุงถนอม ชื่อว่า พี่แจ่ม จะสาธิตการปีนต้นตาลเพื่อไปเก็บน้ำตาลโตนด และทำการปาดตาล
การปาดตาล จะทำทุกเช้า ต้องขึ้นไปปาดบนต้นตาล ทุกเช้าจะเก็บน้ำตาลสดลงมาด้วย
ดูเหมือนการปีนต้นตาลของพี่แจ่ม จะง่ายซะเหลือเกิน พี่แจ่มปืนขึ้นลงประจำทุกวัน เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องยากที่จะปืนคล่องซะขนาดนั้น ลองให้เราลองปืนต้นตาลดูสิ กว่าจะปืนได้ คงใช้เวลาทั้งวันเลยก็ว่าได้
ต้นนี้ได้น้ำตาลโตนดมา 2 กระบอก สามารถทานสดๆ ได้เลย
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าต้นตาลแต่ละต้นจะได้น้ำตาลโตนดกี่กระบอก ต้องดูจากงวงตาล ซึ่งต้นตาลแต่ละต้นจะมีงวงตาลมากน้อยขนาดไหนนั่นเอง
บันได้ทำมาจากไม้ไผ่ ไว้ใช้สำหรับปีนต้นตาล เพื่อง่ายต่อการปืนต้นตาล สังเกตดูว่าจะทำเป็นขั้นๆ ให้ปืนขึนได้ง่ายๆ
นั่งร้านไม้ไผ่ เพื่อปีนต้นตาล โดยไม่ต้องปีนขึ้นลงทีละต้น ทำให้สะดวกต่อการปาดงวงตาล และเก็บน้ำตาลสด
งวงตาล มีลักษณะเป็นงวง คล้ายงวงช้าง จะมีทั้งตาลตัวผู้ ตาลตัวเมีย
ตาลตัวผู้จะมีงวงเดี่ยว ส่วนตาลตัวเมียจะเป็นหลายๆ งวงรวมกัน
สาธิตการบีบงวงตาล และวิธีการผูกงวงตาลเข้าด้วยกัน
การนวดงวงตาล ช่วงแรกให้นวดเบาๆ ส่วนวันต่อๆ มาให้นวดแรงขึ้น มักนวดงวงตาลประมาณ 7-8 วัน
สาธิตการปาดงวงตาล งวงไหนคนไหนปาดก็ต้องให้คนนั้นปาดตลอด เนื่องจาก ความถนัดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนถนัดปาดทางซ้าย บางคนถนัดปาดทางขวา อย่างเช่นเคยปาดงวงตาลทางซ้าย อีกวันปาดทางขวา ท่อลำเลียงน้ำตาลโตนดจะต้องเปลี่ยนเส้นทางน้ำออกจากเดิม ทำให้ได้น้ำตาลน้อยกว่าปกติ กว่าจะไหลเป็นปกติ เพราะฉะนั้นคนปาดตาล ห้ามป่วย ห้ามตาย โดยเด็ดขาด พี่แจ่มได้กล่าวไว้
ต้นตาลได้ทั้งน้ำตาลสด และลูกตาลก็สามารถนำมาทานได้
สาธิต การปีนต้นตาล ขึ้นไปเก็บลูกตาล
กินลูกตาลสดๆ จากต้นกันเลยดีกว่า
คุณพี่ท่านนี้ จะพิสูจน์ว่าลูกตาลสดจากต้น มันหอมหวาน อร่อยกรอบ จริงหรือเปล่า
ลูกตาล 1 ลูก จะมีผล 3 ลูก
พิสูจน์แล้วว่า ผลของลูกตาล หวาน อร่อย สดเลยจ้า
คุณลุง แนะนำ การปลูกต้นตาล ใครอยากได้ต้นอ่อนไปปลูก ก็สามารถติดต่อลุงถนอมได้เลย
กระทะ ตั้งเตาพร้อม ที่จะสาธิตการเคี่ยวน้ำตาลปึก
เรามาก่อเตาไฟกันดีกว่า
เชื้อเพลิงที่นำมาใช้ คือใบตาลที่แห้งแล้ว นำมาเป็นเชื้อเพลิง โดยไม่ต้องใช้ถ่าน ถือว่าต้นตาลมีประโยชน์ทุกส่วนเลยก็ว่าได้
กระบอกเก็บน้ำตาลสด ก่อนจะนำขึ้นไปแขวนบนต้นตาล จะต้องนำมารมควันก่อน
พี่แจ่ม อธิบายการเคี่ยวน้ำตาลปึก พี่ๆ ตั้งใจฟังกันมาก สงสัย สนใจจะนำไปเคี่ยวเองที่บ้านกันแน่ๆ
เคี่ยวจนได้ที่ ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง หรืออาจจะมากกว่านั้น จนกว่าจะได้ที่
เมื่อเคี่ยวน้ำตาลจนได้ที่ นำมาตีให้น้ำตาลกับอากาศเข้าด้วยกัน
ตีจนกว่า น้ำตาลปึกแห้ง และใช้ไม้กวนจนกว่า จะเป็นเนื้อเดียวกัน
เราสามารถลองเคี่ยวตาลด้วยตัวเอง
คุณน้า สาธิตการปลอกจาวตาล
จาวตาล แบบนี้ก็สามารถนำไปรับประทานกันได้ เอาไปทำลูกตาลเชื่อมก็อร่อยดีนะ
ผลิตภัณฑ์จากตาล มีทั้งน้ำตาลปึก และน้ำตาลสด ผลิตภัณฑ์ของสวนลุงถนอมของดั้งเดิม เมืองเพชรบุรี รับรองว่า สด และอร่อย
เพลิดเพลินกับการเรียนรู้วิธีการปลูกตาล ขึ้นต้นตาล การปาดงวงตาล การเก็บน้ำตาลสด จนถึงวิธีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ที่นี่ คือ สวนตาลโตนดแห่งแรก และแห่งเดียว ที่ยังคงอนุรัษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เกี่ยวกับ ตาลโตนด นั่นคือ “สวนตาลลุงถนอม”
ได้เวลาเดินทางออกจากสวนตาลลุงถนอม เราต้องเดินทางกันต่อ
สถานที่สุดท้าย สำหรับการเที่ยวไป เรียนรู้ไป นั่นก็คือ “โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ”
การเดินทาง
จากสวนลุงตาลลุงถนอม ไปยัง โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง โดยไปได้ 3 เส้นทาง สามารถดูได้จาก Google Map ได้เลย
ขอบคุณแผนที่ จากเว็บไซต์ >>>>> http://www.paiduaykan.com/province/central/phetchaburi/changhuaman.html
โครงการชั่งหัวมัน
ตั้งอยู่บ้านหนองคอกไก่ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00 – 18.00 น.
ค่าธรรมเนียมเข้าชม
- ผู้ใหญ่ คนละ 20 บาท
- เด็ก คนละ 10 บาท
- นักเรียน นิสิต นักศึกษา ในเครื่องแบบ คนละ 10 บาท
ต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม เบอร์โทร 032-47200-1
พื้นที่ของโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ อยู่ในความดูแลของ กองทัพภาคที่ 1 ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นจากความเอาพระทัยใส่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อเกษตรกรในการที่จะพัฒนาส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม ให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงดูตัวเอง และครอบครัวได้อย่างยั่งยืน
บัตรเข้าชม สำหรับผู้ใหญ่ 20 บาท
ชื่อโครงการ “ชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ” เกิดขึ้น เมื่อครั้งที่พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล มีชาวบ้านนำมันเทศ ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกอยู่ในท้องถิ่นมาถวาย เมื่อต้องเสด็จกลับกรุงเทพฯ เลยรับสั่งให้เจ้าหน้าที่นำหัวมันเทศนั้นไปวางบนตาชั่งในห้องทรงงาน และเมื่อเสด็จกลับมาหัวหินทรงพบว่ามันเทศหัวนั้นแตกใบออกมา จึงมีรับสั่งให้นำหัวมันเทศไปปลูกใส่กระถาง แล้วมีพระราชดำรัสให้จัดหาพื้นที่ เพื่อทดลองปลูกมันเทศ ซึ่งเป็นพืชที่สามารถปลูกขึ้นได้ทุกที่ แม้ว่าจะวางตั้งทิ้งไว้บนตาชั่งนั่นเอง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อซื้อที่ดินในแถบนี้จากชาวบ้าน เนื้อที่ประมาณ 250 ไร่ เดิมพื้นที่ในแถบนี้เป็นดินลูกรัง แห้งแล้ง และเป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้ยูคาลิปตัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กองงานส่วนพระองค์ สำนักพระราชวัง เข้าพัฒนาพื้นที่เพื่อจัดทำเป็นโครงการทดลองด้านการเกษตร และทรงมีรับสั่งว่า เมื่อทำเสร็จจะเสด็จไปทอดพระเนตรโครงการด้วยพระองค์เอง
กังหันพลังงานลม แต่ละตัวปั่นไฟฟ้าได้ พื้นที่ว่างตรงกลางมีแผนโซลาร์เซลล์ สำหรับเก็บพลังงานแสงอาทิตย์
เราเดินเข้ามาข้างใน จะเจอกับอาคารหลังนี้ ก่อนที่เราจะไปเที่ยวชมภายในโครงการ เจ้าหน้าที่จะเปิดให้รับชมวิดีทัศน์ เกี่ยวกับโครงการกันก่อน
คณะของเราเลือกเที่ยวชมภายในโครงการด้วยรถราง
นอกจากรถรรางแล้ว โครงการยังมีจักรยานให้บริการ เพื่อปั่นเยี่ยมชมพื้นที่เช่นกัน
รถรางบริการนำชมฟรี พร้อมเจ้าหน้าที่บรรยาย จำนวน 24 เที่ยวต่อวัน เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00 น. – 12.00 น. และ 13.00 น. – 17.00 น.
เรานั่งบนรถรางทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้จอดให้เราลงไปถ่ายรูปในแต่ละจุด ถ้าอยากสัมผัส และถ่ายรูปทั่วบริเวณโครงการ แนะนำให้ปั่นจักรยานเที่ยวชมดีกว่า
สถานี แรก หน่วยผลิตน้ำมนทดแทน
แปลงรวมสายพันธุ์หญ้าแฝก และการอนุรักษ์ดินและน้ำ ด้านหลังเป็นโรงเรือนผักกางมุ้ง
แปลงเกษตรแบบผสมผสาน
แปลงปลูกสัปปะรด ด้านหลังเป็นแปลงต้นมะพร้าว
แปลงปลูกข้าว
ข้าวหอม กลิ่นหอมฟุ้งลอยแตะจมูกเลยอะ
แปลงปลูกฟักยักษ์
ขนาดฟักแต่ละลูกใหญ่กว่าปกติ แถมรูปร่างแต่ละสายพันธุ์แตกต่างกันไป
แปลงสวนผักพื้นบ้าน
น้ำเต้า จะมีขนาดรูปทรงแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเราตัดแต่งสายพันธุ์
ไก่แจ้ ออกมาวิ่งเล่น ตรงสวนดอกไม้ และสวนข้าวโพด ภายในโครงการ ยังมีฟาร์มเลี้ยงไก่ด้วย
แปลงปลูกข้าวโพด ออกรวงสวยเชียว
เราถ่ายรูปบริเวณโครงการมาเพียงบางส่วน ได้เก็บภาพจากบนรถได้แค่บางส่วน ถ้าหากอยากเที่ยวชมให้ทั่วโครงการ ต้องลองมาสัมผัสด้วยตัวเอง สิบปากว่าไม่เท่ากับตาเห็น ถ้ายังมีเวลาเพียงพอ เรายังอยากปั่นจักรยานทั่วบริเวณโครงการเลย เอาไว้คราวหน้าเราจะมาเยือนใหม่
ยังเที่ยวเพลินๆ อยู่เลย จบทริปลงแล้วกับ แหล่งเรียนรู้ทั้ง 4 แห่ง ของจังหวัดเพชรบุรี สถานที่ที่ให้ความรู้ ซึ่งมีมากกว่าตำราในห้องสมุด เราได้เดินทางมาเรียนรู้จากสถานที่จริง รับชมการบรรยาย การสาธิต และเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนไทยทรงดำ หรือลาวโซ่ง ชมความงดงามด้านสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกของพระรามราชนิเวศน์ หรือพระราชวังบ้านปืน เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นตาลโตนดแห่งแรก และแห่งเดียวในจังหวัดเพชรบุรี และเรียนรู้ด้านการเกษตร และพืชพันธุ์เศรษฐกิจ ในโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ เที่ยวไป เรียนรู้ไป กับห้องสมุดแห่งใหม่ คุณต้องลองสัมผัสดวยตัวเอง
เป็นครั้งแรกที่เราได้เที่ยวจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวมากกว่าที่เราเคยได้ยิน ขอขอบคุณ สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุม และนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) ที่ได้จัดทริปครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบการเที่ยวไป เรียนรู้ไป ทำให้ได้สัมผัส และเรียนรู้ จังหวัดเพชรบุรี ในอีกมุมมองหนึ่ง
แสดงความคิดเห็น